10 มีนาคม, 2552

สคริปต์พิธีการ

เริ่มจาก จำนวนของพิธีกร แนะนำว่าควรจะมีพิธีกร 1 คน เท่านั้น ชายหรือหญิงก็ได้ ผมไม่ค่อยเห็นพิธีกร 2 คน งานแต่งงานไม่ใช่เกมโชว์ พิธีกรมีหน้าที่ลำดับพิธีการและขั้นตอนเท่านั้น ซึ่งพิธีการในงานเลี้ยงฉลองแต่งงานนั้นไม่มีมาก อย่างมากก็พูด 5- 6 ประโยค ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ 2 ถ้าใช้ 2 คน บางทีพิธีกรจะพูดเยอะเกินทำให้ภาพดูไม่ดี

และอย่าลืมว่าโดยธรรมชาติแล้ว ถึงแม้พิธีกรจะตื่นเต้นแต่ก็มีสคริปต์ คนที่แย่กว่าบนเวทีตอนนั้นคือเจ้าบ่าวและเจ้าสาวครับ ตื่นเต้นนั้นธรรมดาอยู่แล้ว ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรก่อนหลังดี บางคู่ก็นิ่งอยู่นานกว่าจะพูดออก เพราะนั้นอย่าให้พิธีกรมาแย่งซีนไปจากเราด้วยการพูดมากกว่าหรือข่มเราด้วยจำนวนที่เท่ากัน ถ้าพิธีกรมีหนึ่ง เรามีสอง ยังไงก็ดูเด่นกว่า แม้จะพูดติดขัดอยู้บ้างก็ไม่เป็นไร อีกอย่างที่ควรจะทำคือ เจ้าบ่าวและเจ้าสาวนั้นเมื่อขึ้นเวทีแล้วให้ยืนคู่กันอยู่บนเวที ส่วนพิธีกรให้ยืนอยู่ด้านข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ต้องเดินเข้ามาอยู่กับบ่าวสาว เพื่อให้ความสำคัญกับบ่าวสาวจริงๆ ถ้าจะเดินเข้าใกล้บ่าวสาวบ้าง ก็ทำได้หลังจากที่บ่าวสาวกล่าวขอบคุณแขกเรียบร้อยแล้ว และอาจมีการพูดคุยสัมภาษณ์กันเล็กน้อยก่อนตัดเค้ก ทีนี้มาว่ากันถึงลำดับขั้นตอน ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ในงานแต่งงานจะมีการฉายพรีเซ็นเทชั่นกันเกือบทุกงาน แนะนำให้ใช้ไฟในการเริ่มฉาย คือ หรี่ไฟลงจนกระทั้วไฟมืดสนิท ทิ้งไว้สัก 5 วินาที จากนั้นจึงเริ่มฉายพรีเซ็นเทชั่น ไม่แนะนำให้พิธีกรขึ้นไปพูดกล่าวต้อนรับและเชิญชวนแขกชมพรีเซ็นเทชั่น มี 2 เหตุคือ หนึ่ง ไม่ว่าจะในงานเลี้ยงแบบไหนก็แล้วแต่ (ค็อกเทลหรือโต๊ะจีน) ตอนที่พิธีกรขึ้นไปกล่าวต้อนรับนั้น แขกมักไม่รู้ตัวและไม่สนใจมองไปที่เวที บางทีพิธีกรกล่าวคำว่า “สวัสดีค่ะ/ครับ” อยู่สัก 3 – 4 แขกยังไม่รู้ตัวเลยด้วยเสียงของแขกในงานดังกว่า

ข้อสอง คิดว่าให้คู่บ่าวสาวขึ้นเวทีก่อนคนอื่นๆ ดีกว่า อย่าให้ใครขึ้นไปก่อน และเมื่อมีการฉายพรีเซ็นเทชั่นในงานระหว่างที่บ่าวสาวค่อยๆ เดินมาอยู่ใกล้เวทีหน่อย เมื่อพรีเซ็นเทชั่นจบก็ฉายไฟฟอลโลว์ไปที่บ่าวสาว และให้เดินขึ้นเวทีโดยไม่ต้องเปิดเพลงมันจะเยอะเกินไป คุณมีเพลงในพรีเซ็นเทชั่นแล้วก็ควรจะทิ้งช่วงไว้สำหรับเพลงตัดเค้ก ซึ่งจะต้องเป็นเพลงที่เด่นที่สุด ถ้าคุณใช้เพลงตอนเดินเพิ่มเข้าไปอีก

สำหรับงานที่ไม่ได้มีพรีเซ็นเทชั่น แนะนำให้พิธีกรใช้วิธีการเดียวกัน แต่อาจเปลี่ยนเป็นหรี่ไฟลงมืดสนิท ฟอลโลว์ไฟไปที่บ่าวสาวให้เดินขึ้นเวที โดยใช้เพลงหนึ่งเพลงสำหรับวอล์คอิน วิธีนี้จะไม่ทำให้พิธีกรเดินตามไปพร้อมกับประโยคที่ว่า “ขอเสียงปรบมือให้กับคู่บ่าวสาว ด้วยครับ/ค่ะ” เช่นเดียวกัน เมื่อบ่าวสาวเดินขึ้นเวทีและพิธีกรเดินตามขึ้นมาด้วยประโยคที่ว่า “ขอเสียงปรบมือต้อนรับให้กับคู่บ่าวสาวด้วยครับ/ค่ะ “ จุดที่จะยืนบนเวทีของคู่บ่าวสาวคือตรงกลางอย่างที่บอกไปตอนที่แล้ว ตรงนี้บ่าวสาวหลายคนจะเบลอหรืองง เพราะว่าตื่นเต้นหรือเดินมาไกลก็แล้วแต่ พิธีกร (หวังว่าจะไม่ตื่นเต้นตามไปด้วย) ต้องช่วยดูให้เรียบร้อย จากนั้นพิธีกรก็เริ่มดำเนินพิธีการต่อดังนี้

- กล่าวต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน

- กล่าวเชิญผู้ใหญ่ที่จะขึ้นมาอวยพรบ่าวสาวรวมถึงกล่าวขอบคุณเมื่อท่านอวยพรเสร็จแล้ว

- กล่าวเชิญคู่บ่าวสาวกล่าวขอบคุณแขก

- สัมภาษณ์ (ถ้ามี)

- กล่าวเชิญบ่าวสาวตัดเค้ก กล่าวต้อนรับแขก “ขอต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่มาร่วมในงานเลี้ยงฉลองสมรสของคุณ........................... เจ้าบ่าวและเจ้าสาวในวันนี้”

กล่าวเชิญผู้ใหญ่ “ขอกราบเรียนเชิญ .......................................บนเวทีเพื่อ (คล้องมาลัยถ้ามี) กล่าวอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาวในวันนี้ ขอกราบเรียนเชิญครับ/ค่ะ”

เมื่อผู้ใหญ่ท่านดังกล่าวเดินลงจากเวทีพิธีกรกล่าวขอบคุณ “ขอขอบคุณ............................................ มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ/ค่ะ” หากมีผู้ใหญ่ที่จะขึ้นมากล่าวอีกก็ทำซ้ำเหมือนเดิม ผู้ใหญ่ที่จะขึ้นกล่าวบนเวทีที่แจ๋วที่สุดเลยคือ 1 คนเท่านั้น ถ้าจำเป็นก็ 2 คนอย่างสูง อย่าให้มากกว่านี้ ลองนึกภาพพิธีกรพูดอย่างนี้ “ลำดับต่อไปขอกราบเรียนเชิญ ลำดับต่อไปขอกราบเรียนเชิญ ลำดับต่อไปขอกราบเรียนเชิญ ๆๆๆ “ ถ้าแบบนี้งานกร่อยแน่ เพราะเท่าที่เคยเห็นคืออย่างแรก แขกจะเริ่มคุยกันดังขึ้นๆ(ซึ่งแขกเองก็ไม่ควรเสียมารยาทตรงนี้) แขกหลายๆท่านถือโอกาสเดินไปเข้าห้องน้ำ ซึ่งจะเกิดภาพที่ไม่ดีสำหรับในงาน แขกบางท่านไปห้องน้ำแล้วไปเลยครับ การที่แขกเริ่มคุยกันดังขึ้นเรื่อยๆนั้น มีผลต่อเนื่องมาถึงตอนที่บ่าวสาวจะพูดครับซึ่งอยู่ในช่วงถัดไป กล่าวเชิญบ่าวสาวขอบคุณแขก “ จากนี้ไปขอเชิญเจ้าบ่าวและเจ้าสาวกล่าวขอบคุณแขกที่มาในงานครับ/ค่ะ” หลายๆงานชอบสัมภาษณ์บ่าวสาวเลย ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่ง เราจำเป็นต้องกล่าวขอบคุณผู้ใหญ่ที่ขึ้นมาอวยพรก่อน จากนั้นค่อยขอบคุณแขกอื่นๆรวมถึงขอบคุณใครก็ตามที่เราอยากขอบคุณ เช่น คุณพ่อคุณแม่อย่างที่ชอบทำ แล้วจึงสัมภาษณ์บ่าวสาว ใครจะพูดก่อนหรือหลังได้ตามใจ สัมภาษณ์ ช่วงนี้หากพิธีกรจะขยับเข้ามาใกล้บ่าวสาวมากขึ้นก็ได้เพื่อความผ่อนคลาย แต่อย่าสัมภาษณ์นานเกินจนน่าเบื่อ ตัดเค้ก ประโยคง่ายๆเช่น “บัดนี้ก็ได้เวลาที่ทุกท่านรอคอยแล้ว ขอเชิญบ่าวสาวทำพิธีตัดเค้กฉลองสมรสครับ/ค่ะ” เป็นอันใช้ได้ ช่วงนี้บ่าวสาวควรรอให้เพลงตัดเค้กที่เราเลือกใช้เริ่มขึ้นมาก่อนแล้วจึงเริ่มเดิน จากนี้พิธีกรก็ถอยตัวลงมาจากเวทีได้เลย ไม่ต้องมีประโยคร่ำลาใดๆ กระบวนการทั้งหมดจากนี้ขอให้บ่าวสาวทำทุกอย่างช้าลงจากปกติครึ่งจังหวะ เมื่อตัดเค้กแล้วบ่าวสาวก็น่าจะกินเค้กชิ้นแรกบนเวทีเค้กนั้น ผลัดกันป้อนคนละคำก็น่ารักดีครับ หรือจะไม่ทำก็ได้ ขั้นตอนต่อไปคือการนำเค้กไปให้ผู้ใหญ่ที่ขึ้นเวทีมาพูดตามลำดับ แล้วจึงนำไปให้คุณพ่อคุณแม่ ฝ่ายใดก่อนก็ได้ ส่วนจะนำไปให้ญาติผู้ใหญ่ท่านใดในงานอีกบ้างก็ตามอัธยาศัย อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่นิตยาสาร WE คอลัมน์ Ask the Expert เดือนพฤศจิกายน 51 ขอขอบคุณ ข้อมูล :เอกวัฒน์ อมรพงศ์พิสุทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น