27 กุมภาพันธ์, 2552

ประเพณีแต่งงานแบบจีน

ในสมัยก่อน การหมั้นและการแต่งนิยมให้เป็นคนละวันกัน บางคู่หมั้นแล้วอีก สามเดือนหกเดือนค่อยแต่ง บางบ้านหมั้นนานเป็นปีก็มี แต่สมัยนี้นิยมสะดวก ก็อาจหมั้นและแต่งในวันเดียวกันไปเลย เครื่องขันหมากสำหรับหมั้นและวันแต่งคนละวันกันจะมีธรรมเนียมว่าวันหมั้นฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนดว่าจะให้มีอะไร และจำนวนมากน้อยเท่าใด อย่างไรก็ตาม ถ้าวันหมั้นและวันแต่งคนละวันกัน จะมีธรรมเนียมว่าวันหมั้นฝ่ายหญิงเป็นผู้รับภาระเรื่องการเลี้ยงหมั้น แล้ววันเลี้ยงวันแต่งงานเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย ซึ่งข้อกำหนดปรับเปลี่ยนได้ตามฐานะของสองฝ่าย

หาฤกษ์แต่งงาน และฤกษ์รับตัวเจ้าสาว ความสำคัญของพิธีแต่งงานแบบจีน อยู่ที่ฤกษ์รับตัวเจ้าสาว ซึ่งทางพ่อแม่ของทั้งคู่จะนำดวงของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ไปให้ซินแสตรวจและหาฤกษ์ให้ เมื่อได้ฤกษ์แล้ว ก็จะต้องตระเตรียมงานพิธี

สิ่งที่ เจ้าบ่าว ต้องเตรียม ระหว่างนี้เจ้าบ่าวจะต้องให้หญิงหรือชาย ซึ่งมีลูกดกและคู่ชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ มาทำพิธีปูเตียงในห้องหอ โดยจะวางส้ม 4 ลูกไว้บนเตียงทั้ง 4 มุม เมื่อปูเสร็จแล้วก็ต้องทิ้งไว้อย่างนั้น ยังไม่ให้เจ้าบ่าวนอน การเตรียม "ขนมขันหมาก" ซึ่งเป็นขนมและผลไม้ต่างๆมามอบให้ครอบครัวเจ้าสาวก่อนวันงานจะต้องติด กระดาษแดง เป็นตัวอักษรภาษาจีน ที่แปลเป็นไทยว่า "ความสุขยกกำลังสอง"

1. เครื่องขันหมาก

1.1 สินสอดทองหมั้น ( เพ้งกิม )

เพ้ง คือ เงินสินสอด แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกร้อง แต่ถ้าเจ้าสาวยังมีอากง อาม่าหรือปู่ย่าอยู่ฝ่ายชายต้องจัดเงินอั้งเปาอีกก้อนหนึ่งให้เป็นพิเศษด้วยพร้อมชุดหมู 1 ชุดอีกต่างหาก โดยพ่อแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้รับขึ้นมา กิม คือ ทอง แล้วแต่ฝ่ายหญิงจะเรียกเช่นเดียวกัน แต่ถ้าจะพิถีพิถันก็อาจขอเป็น " สี่เอี่ยกิม " แปลว่าทอง 4 อย่าง เพราะเลข 4 เป็นเลขดีของคนจีน ทอง 4 อย่าง เช่น กำไลทอง สร้อยคอทองคำ ตุ้มหูทอง เข็มขัดทอง

1.2 กล้วย ต้องยกมาทั้งเครือเขียว ๆ ถ้าได้จำนวนหวีเป็นเลขคู่ยิ่งดี แล้วนับจำนวนให้ลงเลขคู่ ถ้าได้ลูกแฝดด้วยก็จะดีมาก เวลาใช้ให้เอากระดาษแดงพันก้านเครือและติดตัวหนังสือ"ซังฮี่ "บนเครือกล้วย และ ทาสีแดงบนลูกกล้วยทุกใบ และฝ่ายชายจะต้องเป็นผู้เอากลับ เมื่อพิธีสู่ขอเสร็จแล้ว กล้วยเป็นผลไม้ที่มี 2 นัยมงคล - จำนวนผลที่มากมาย อวยพรให้มีลูกหลานสืบสกุลมาก ๆ - ดึงสิ่งดี ๆ ให้มาเป็นของเรา ซัง แปลว่า คู่

ฮี่ แปลว่า ยินดี

ซังฮี่ จึงแปลว่า ความยินดีของหญิงชายคู่หนึ่ง ซึ่งก็คือคู่บ่าวสาวนั่นเอง

1.3 อ้อย อ้อย 1 คู่ ยกมาทั้งต้น เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่หวานชื่น แต่บางบ้านไม่เอา เพราะเป็นความหวานที่กิน ยากต้องทั้งปอกทั้งแทะ

1.4 ส้ม เป็นผลไม้มงคลให้โชคดี นิยมใช้ส้มเช้งเขียว ติดตัวหนังสือซังฮี่สีแดงทุกผล และต้องให้จำนวนเป็น เลขคู่แล้วแต่ฝ่ายหญิงกำหนด

1.5 ขนมหมั้น,ขนมแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้กำหนดทั้งชนิดและจำนวน การกำหนดชนิดคือ จะให้เป็นขนม 4 สี เรียกว่า " ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ " หรือขนม 5 สี เรียกว่า " โหงวเส็กทึ้ง " ประกอบด้วย ขนมเหนียวเคลือบงา, ขนมเปี๊ยะโรยงา, ขนมถั่วตัด, ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน

นอกจากนี้บางบ้านอาจขอให้มีน้ำตาลทราย, ซาลาเปาไส้หวาน, และคุกกี้กระป๋องด้วย โดยจำนวนของขนม แต่งงานและคุกกี้กระป๋อง ฝ่ายหญิงมักกำหนดจำนวน โดยนับจากจำนวนของญาติมิตรที่จะเชิญ มีคำเรียกการให้ขนมแต่งงานแก่ญาติมิตรว่า " สั่งเปี้ย " สั่ง หรือ ซั้ง แปลว่า ให้ เปี้ย แปลว่า ขนม ในที่นี้หมายถึงขนมหมั้นหรือขนมแต่งงาน

1.6 ชุดหมู เท่าที่พบจะมีประมาณ 3 ถาด

- ถาดที่1: เป็นชุดหัวหมูพร้อม4 เท้าและหาง โดยเล็บเท้าต้องตัดเรียบร้อยติดตัวหนังสือซังฮี่

- ถาดที่2: เป็นถาดขาหมูสดติดตัวซังฮี่เช่นเดียวกัน

- ถาดที่3: เป็น" โต้วเตี้ยบะ" เท่านั้น คือเป็นเนื้อหมูตรงส่วนท้องของแม่หมู เพื่ออวยพรให้เจ้าสาว ได้เป็นแม่คนแม่ที่อุ้มท้องเพื่อให้กำเนิดบุตรแก่ฝ่ายชาย และมีธรรมเนียมว่าทางฝ่ายหญิง ก็ต้องให้ชุดหมูสดตอบแทนแก่ฝ่ายชาย แต่ชุดหมูของฝ่ายหญิงจะเป็นชุดหัวใจหมูที่ต้องสั่งพ่อค้า เป็นพิเศษว่าเป็นชุดหัวใจทั้งยวงที่ยังมีปอดและตับติดอยู่ด้วยกัน เมื่อเสร็จพิธี ชุดหัวใจนี้อาจทำได้เป็น 2 แบบ

-แบบ1: คือ ฝ่ายหญิงแบ่งชุดหัวใจให้ฝ่ายชายไปครึ่งหนึ่ง

-แบบ2: คือเอาชุดหัวใจนี้ไปประกอบอาหารให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวรับประทานร่วมกันเพื่อเป็นเคล็ดอวยพร ให้หญิงชายมีจิตใจร่วมกันเป็นใจหนึ่งใจเดียวกัน

1.7 ของเซ่นไหว้ที่บ้านเจ้าสาว ฝ่ายชายต้องเตรียมของไหว้ 2 ชุด

- ชุด1: สำหรับไหว้เจ้าที่

- ชุด2: สำหรับไหว้บรรพบุรุษ การจัดเตรียมของไหว้ที่ครบถ้วน จะต้องมีทั้งของคาว ขนมไหว้ ผลไม้ไหว้ เหล้า อาหาร 10 อย่าง ธูปเทียนดอกไม้ และมีของไหว้พิเศษ คือเส้นหมี่เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่ยืนยาวและนิยมหาเถ้าแก่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือและมีชีวิตครอบครัวที่ดีมาเป็นผู้นำขบวนหรือช่วยถือของขันหมากเพื่อเป็นสิริมงคล

2. เครื่องขันหมาก มีหลายอย่างที่นิยมแบ่งกันคนละครึ่ง เช่น ขาหมู 2 ขา ก็คนละ 1 ขา อ้อย ขนมขันหมาก ชุดลำไยแห้ง ต้นชุงเฉ้า

ส่วนของที่ฝ่ายชายต้องเอากลับไปทั้งหมด ก็คือ กล้วยเขียวเครือใหญ่, เอี๊ยมแต่งงาน, ชุดหัวใจหมู, ถาดไข่, และถาดส้มเช้งของฝ่ายหญิง

สิ่งที่ เจ้าสาว ต้องเตรียม ส่วนทางเจ้าสาว ก็เตรียมสัมภาระที่จะนำติดตัวไปด้วย เช่น กระเป๋าเดินทาง เซฟใส่เครื่องประดับ หมอนปักรูป หงส์มังกร 1 คู่ บางรายก็อาจจะเพิ่มผ้านวมหรือเครื่องนอนชิ้นอื่นๆ รวมทั้งเสื้อเอี๊ยม เพื่อให้รู้ว่าเป็นเมียเอกนะ เจ้าสาวบางรายที่มีฐานะดีๆ สายคล้องคอเอี๊ยมก็จะเป็นสร้อยทอง และในเสื้อเอี๊ยมนี้จะใส่โหงวอิ๊กอี้ ซึ่งเป็นผลไม้ตากแห้ง และต้นชุ่งเช่าไว้สำหรับนำไปปลูกที่บ้านเจ้าบ่าวพร้อมกาละมังลายนกคู่ กระโถนกับกาตอเฉียะ (ไม้วัดและกรรไกรตัดผ้า) รวมทั้งเข็มและด้าย เพื่อให้รู้ว่าเจ้าสาวเป็นคนเย็บปักถักร้อยเก่ง ข้าวของเครื่องใช้จะต้องเป็น สีแดง หรือสีชมพูเท่านั้น

1. ข้าวของเครื่องแต่งงานของเจ้าสาว

1.1 เอี๊ยมแต่งงาน ตัวเอี๊ยมเป็นสีแดง สีมงคลให้เฮงๆ ปักลายอักษรซังฮี่ หรือคู่ยินด ีและปักตัวหนังสือ 4 คำ "แป๊ะนี้ไห่เล่า" แปลว่า อยู่กินกันจน ถึงร้อยปี พร้อมด้วยลวดลายมังกรและหงส์ ซึ่งลายนี้มีชื่อเรียกว่า "เล้งหงกิ๊กเซี้ยง" ให้ความหมายว่า ถึงเวลาแห่งความสุขและความรุ่งเรืองที่กำลังมาหา ขอให้คู่สมรสได้พบแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิตใหม่ คือชีวิตคู่ ของการอยู่ร่วมกัน บนเอี๊ยมมีกระเป๋าให้ใส่ " โหงวเจ๊งจี้ " หรือเมล็ดธัญพืช 5 อย่าง คือ ข้าวเปลือกข้าวสาร ถั่วเขียว สาคู ถั่วดำห่อใส่กระดาษแดงอวยพรให้สามีภรรยา และลูกของตระกูลได้งอกงามรุ่งเรืองพร้อมทั้งใส่เหรียญทอง ลายมังกร เรียกว่า เหรียญกิมเล้ง เพื่ออวยพรให้ร่ำรวย บางบ้านอาจมีใส่เงินทอง เพิ่มเข้าไปด้วย แล้วใส ่ ต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวงที่หน้าตาคล้ายต้นกุยช่าย ต้นชุงเฉ้านี้คนจีนถือเป็นต้นไม้มงคลหมายถึงเกียรติ และที่ปากกระเป๋าเอี๊ยมให้เสียบ " ปิ่นทองยู่อี่ " ไว้ให้ หมายความว่า ทุกเรื่องให้สมปรารถนา ในวันส่งตัวฝ่ายชายต้องเอาปิ่นยู่อี่มาคืน เพื่อให้เจ้าสาวได้ติดผมตอนส่งตัว สายของเอี๊ยมนิยมใช้ โซ่ทองคล้องใส่ไว้ ถ้ารวยจริงก็ใช้ทองจริงนิยมเป็นทองหนัก 4 บาท ้เพราะถือเคล็ดเลข 4 เป็นเลขดี

1.2 ไข่สีแดง 1 ถาด จัดเป็นเลขคู่ บางบ้านเตรียม 24 ลูก เพื่ออวยพรเป็นนัยว่าเจ้าสาวจะไปให้กำเนิดลูกหลานมาก ๆ

1.3 โอวเต่ากิ๊ว คือ ขนมถั่วดำคลุกน้ำตาล มีแซมข้าวพองสีแดงทำเป็นลูกกลมๆ ที่ร้านขนมบอกว่า นิยมใช้ 14 ลูก หรือ 7 คู่

1.4 ส้มเช้ง ติดตัวซังฮี่ 1 ถาดใหญ่ มีจำนวนส้มเป็นเลขคู่ บางบ้านมีจัดส้มสีทองปนไป 4 ลูกด้วย

1.5 ชุดลำไยแห้ง 2 ชุด

1.6 ชุดชุงเฉ้า 2 ต้น

1.7 อั้งฮวย หรือใบทับทิ เตรียมไว้มาก ๆ แล้วนำมาแบ่งใส่ประดับในของทุกถาดที่ฝ่ายชายจะต้องยกกลับ

1.8 เผือก บางบ้านไม่นิยมไข่ ก็จัดเป็นเผือก คนจีนเรียก " โอวเท้า " หมายถึงความสมบูรณ์ นิยมจัดเป็นเลขคู่

1.9 เม็ดสาคู เอาไว้โรยในของต่างๆ เป็นเคล็ดอวยพร สาคูเม็ดกลม ๆ คู่บ่าวสาวกลมเกลียวกัน

2. เครื่องขันหมาก มีหลายอย่างที่นิยมแบ่งกันคนละครึ่ง เช่น ขาหมู 2 ขา ก็คนละ 1 ขา อ้อย ขนมขันหมาก ชุดลำไยแห้ง ต้นชุงเฉ้า ส่วนของที่ฝ่ายชายต้องเอากลับไปทั้งหมด ก็คือ กล้วยเขียวเครือใหญ่, เอี๊ยมแต่งงาน, ชุดหัวใจหมู, ถาดไข่, และถาดส้มเช้งของฝ่ายหญิง

3 วันก่อนวันงา จ้าสาวสมัยเก่าจะต้องมังหมิ่ง เพื่อกันขนที่รกใบหน้าออก ถือเป็นเคล็ดลับเสริมความงามแบบโบราณอย่างหนึ่ง

1วัน ก่อนวันงาน ในคืนก่อนวันงาน ก็จะอาบน้ำใบทับทิมและใบเซียงเช่า เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยชำระล้างสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป จากนั้นจะสวมชุดใหม่ ่และนั่งลงให้หญิงที่มีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์พูนสุข หวีผมให้พร้อมกับกล่าวอวยพรไปด้วย วันงาน และในวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องเสียบปิ่นปักผมกับกิ่งทับทิมไว้บนเรือนผม เพราะเชื่อว่ากิ่งทับทิมจะช่วยให้ คนรักใคร่เอ็นดู และหมายถึงสาวบริสุทธิ์ สำหรับเรื่องปิ่น เนื่องจากคนสมัยนี้คิดว่าที่ต้องเสียบปิ่น เพราะบนปลายปิ่นมีคำว่า "หยู่อี่" ซึ่งหมายความว่า "สมหวัง" แต่แท้จริงแล้วเป็นเคล็ดลับของคนโบราณ เพราะเจ้าบ่าวบางรายไม่เคยมีประสบการณ์การเข้าหอมาก่อน เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเป็นครั้งแรก บางรายจีงหลั่งไม่หยุด และบางทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ คนเฒ่าคนแก่จึง สอนเจ้าสาวไว้ว่า หากเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ให้เอาปิ่นปักหลังเจ้าบ่าวเพื่อเขาจะได้รู้สึกตัว

วันงาน - พิธีรับตัวเจ้าสาว"ที่บ้านเจ้าสาว" เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ทางเจ้าบ่าวมารับตัวเจ้าสาวจะต้องรับประทานอาหารกับพ่อแม่พี่น้องของตนเป็นมื้อสุดท้าย โดยมีแม่สื่อคอยคีบอาหารให้พร้อมกับกล่าวอวยพร จนได้ฤกษ์ เจ้าบ่าวก็จะนั่งรถคันโก้ผูกโบว์สีชมพูที่กระโปรง หน้ารถมายังบ้านเจ้าสาว ในการรับตัวเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องนำหมูดิบมามอบให้แม่เจ้าสาว แทนยาบำรุงที่ท่านอุตส่าห์ตั้งท้องเจ้าสาวมา เมื่อพบหน้าเจ้าสาวแล้ว ทั้งคู่ก็ยังต้องผ่านด่านของผู้ที่มากั้นประตู แจกอั่งเปาจนหนำใจเสียก่อน จึงจะลงจากห้องมาทำพิธีที่ชั้นล่างได้ ถึงตอนนี้ ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ (ที่เรียกว่า "ตี่จูเอี๊ย") ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ ซึ่งอยู่ในครัว และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว ถ้าหากปู่ย่าตายายของเจ้าสาวยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องไหว้กับตัว เพื่อบอกกล่าวให้ท่าน ทราบว่าเจ้าสาวกำลังจะจากครอบครัวไปแล้ว จากนั้นจึงทำการคารวะน้ำชาพ่อแม่เจ้าสาว

วันงาน - พิธีรับตัวเจ้าสาว"ที่บ้านเจ้าบ่าว" เมื่อเสร็จสิ้นพิธีทางบ้านเจ้าสาว ก็มาถึงตอนที่เจ้าสาวจะต้องนั่งรถไปกับเจ้าบ่าว พร้อมด้วยคนถือตะเกียง ซึ่งจะต้อง เป็นญาติผู้ชายของฝ่ายหญิง รวมทั้งคนหาบขนม ในการนี้พ่อเจ้าสาวจะเป็นคนจูงเจ้าสาวขึ้นรถ พลางกล่าวอวยพรพร้อมกับพรมน้ำใบทับทิมให้ด้วยว่า "ขอให้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เปลี่ยนคุณหนูให้เป็นคุณหญิง" และก่อนที่เจ้าสาวจะเข้าบ้านเจ้าบ่าว ถ้าหากเจ้าสาวมีประจำเดือนก็ต้องก้าวข้ามกระถางที่จุดไฟไว้ จึงจะเข้าบ้านได้ แต่ถ้าหาเจ้าสาวไม่มีประจำเดือน ก็ไม่จำเป็น ทันทีที่เข้ามาในบ้าน บ่าวสาวจะไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว แบบเดียว กับที่ทำที่บ้านเจ้าสาว จากนั้นจึงคารวะน้ำชาพ่อแม่ และยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ พิธีการนี้ ถือเป็นการแนะนำให้ญาติๆ รู้จักสะใภ้หน้าใหม่ไปด้วยในตัว และท่านก็จะแจกอั่งเปาพร้อมทั้งอวยพรให้เป็นการตอบแทน บ่าวสาวจะทานบัวลอยไข่หวานด้วยกัน เพื่อทั้งคู่จะได้รักใคร่ปรองดอง และหวานชื่นเหมือนรสชาติและสีของขนม พอรุ่งเช้าถัดจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องตื่นขึ้นมาปฎิบัติหน้าที่ลูกสะใภ้ปรนนิบัติพ่อแม่สามีด้วยการยกน้ำล้างหน้า ให้ท่าน บางครอบครัวอาจจะปฎิบัติตามธรรมเนียมนี้ 3 วันหรือบางราย 12 วัน

3 วันหลังวันงาน น้องชายของภรรยาจะเป็นฝ่ายไปรับคู่สามีภรรยาหน้าใหม่ กลับมาเยี่ยมและรับประทาน อาหารที่บ้านเจ้าสาว และเจ้าสาวจะได้รับการต้อนรับเยี่ยงแขกคนหนึ่ง

คนจีนหลายบ้าน มีธรรมเนียมว่า ในคืนวันส่งตัวเจ้าสาวจะทำอาหาร 10 อย่างที่เป็นเคล็ดมงคลอวยพรให้คู่บ่าวสาวได้รับประทาน ได้แก่

[1] วุ้นเส้น หรือเส้นหมี่ หรือบะหมี่ หมายความว่า ให้รักกันนาน ๆ อายุยืนยาว

[2] เห็ดหอม หมายความว่า ให้ชีวิตคู่หอมหวาน

[3] ผักกู้ช่าย หรือกุ้ยช่าย หมายความว่า ให้รักกันนาน ๆ หรือ ขอให้รวย

[4]. ผักเกาฮะไฉ่ หมายความว่า ให้รักใคร่ปรองดองกัน

[5] หัวใจหมู หมายความว่า ให้รักกันเป็นใจเดียว

[6] ไส้หมู-กระเพาะหมู หมายความว่า ให้ปรับตัวเข้าหากัน นิสัยใดไม่ดีก็ให้เปลี่ยนเป็นนิสัยที่ดี เพื่อให้มีความสุขและ รักกันยืนยาว

[7] ตับ หมายความว่า ให้มีความรุ่งเรืองและเจริญก้าวหน้า

[8] ปลา หมายความว่า ให้ร่ำรวยเหลือกินเหลือใช้

[9] ปู หมายความว่า ให้ทำอะไรได้คล่องแคล่วว่องไว ขยันทำมาหากินและงานสำเร็จลุล่วงเร็วไว (เหมือนปูที่เดินเร็ววิ่งเร็ว )

[10] ไก่ หมายความว่า ให้มีความกล้าหาญ มีสติปัญญาและมีความเที่ยงตรง

ขอขอบคุณข้อมูลที่มา : ทุกเรื่องให้สมปรารถนา ( บ่วง-สื่อ-ยู่-อี่ ) โดย จิตรา ก่อนันทเกียรติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น